หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2480 ถึงปัจจุบัน

เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2480 ถึงปัจจุบัน

ประเภทของ เพลงไทยในประวัติศาสตร์

แนวเนื้อหาเพลงไทยสากลในยุคแรก ช่วงทศวรรษ 2480 ถึงทศวรรษ 2490 ครูนารถ ถาวรบุตร บรมครูนักแต่งเพลงแบ่งออกเป็น

1. กลุ่มเพลงปลุกใจ ให้รักชาติ รักความเป็นไทย
2. กลุ่มเพลงรัก ครูนารถเรียก “เพลงประโลมโลกย์”
3. กลุ่มเพลงชีวิต ยุคนั้นยังไม่เรียก “เพลงเพื่อชีวิต” คือเพลงที่หยิบยกเอารายละเอียดชีวิตของคนในอาชีพต่างๆ มาพรรณนาด้วยคำร้องที่เรียบง่ายแต่กินใจ มุ่งสะท้อนสภาพทางสังคมและเสียดสีการเมืองบ้างพอสมควร อันถือได้ว่าเพลงชีวิตคือ “รากฐาน” ของเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา

นั่นคือหลังจากปี พ.ศ.2500 มาแล้ว จึงมีการแบ่งเพลงไทยสากลออกเป็น

1. เพลงลูกกรุง เช่นเพลงของ สุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร ฯลฯ
2. เพลงลูกทุ่ง เช่นเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ ฯลฯ โดยคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 2507 เมื่อมีรายการโทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรหม รายการหนึ่งตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และจนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อประชาธิปไตยเบ่งบานจึงเริ่มมีเพลงประเภทที่ 3 เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เกิดขึ้นจากแนวคิดศิลปะต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งปรากฏในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งขบวนการนักศึกษาให้ความยอมรับนับถือ

การแบ่งประเภทของ “เพลงไทยสากล” ออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ ลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพื่อชีวิต ยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน

ทั้ง นี้แม้ว่าเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งจะพัฒนาไปอย่างหลากลาย ทั้งตลกขบขัน รักหวานชื่น หัวอกขื่นขม สองแง่สามง่าม เสียดสีสังคม ฯลฯ ขณะที่เพลงเพื่อชีวิตก็แตกแขนงทางเนื้อหาสาระและแนวดนตรีออกไปมากเช่นกัน

แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่า ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันล้วนมีรากฐานมาจาก “เพลงชีวิต” ที่ศิลปินชั้นครูอย่าง แสงนภา บุญราศรี, เสน่ห์ โกมารชุน, ไพบูลย์ บุตรขัน, คำรณ สัมบุณณานนท์ ได้บุกเบิกรังสรรค์ไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2480-2490 นั่นเอง


ปฐมบทเพลงเพื่อชีวิต เผยตำนาน “แสงนภา บุญราศรี” ราชาเพลงชีวิตผู้ถูกลืม

แสงนภา บุญราศรี อดีตราชาละครร้องยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บุกเบิกแต่งเพลงไทยสากลที่สะท้อนชีวิตชนชั้นล่างของสังคมเป็นครั้งแรกช่วง ทศวรรษ 2480 เรียกกันว่า “เพลงชีวิต” เพลงเอกของเขานำ้วงเวลาที่ “เพลงเพื่อชีวิต” ของ หงา คาราวาน, แอ๊ด คาราบาว, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ฯลฯ ได้รับความนิยมถึงขีดสุด ก็อาจกล่าวได้ว่า แสงนภา บุญราศรี รังสรรค์ผลงานในแนวนี้มาก่อนถึงราวครึ่งศตวรรษ และหากจะนับระยะห่างจากห้วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งอย่างเพลง “น้ำท่วม” ของ ศรคีรี ศรีประจวบ, “อีสานแล้ง” ของ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ โด่งดังเป็นที่รู้จัก แสงนภาก็ได้นำเสนอเนื้อหาเพลงเกี่ยวกับชนบทไว้ในเพลง “คนปาดตาล” และอีกหลายเพลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่เพลงลูกทุ่งในระยะหลัง พัฒนารูปแบบและเนื้อหาไปหลากหลายมากกว่าเพลงชีวิตของแสงนภา

หากจะกล่าวว่า “มนต์การเมือง” ที่ครูสุเทพ โชคสกุล แต่งให้ คำรณ สัมบุณณานนท์ ขับร้อง (ในราวปี 2495) และแอ๊ด คาราบาว นำมาขับร้องใหม่ (ในปี 2532) เป็นเพลงเสียดสีนักการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเป็นเพลงแรก ทว่า…เนื้อหาเกี่ยวกับการซื้อเสียงของ ส.ส. และการคอร์รัปชั่นโกงกินกระทั่งจอบและเสียมของเสนาบดีผู้ฉ้อฉล ปรากฏอยู่ในเนื้อหาเพลง “แป๊ะเจี๊ยะ” และเพลง “พรานกระแช่” ของแสงนภามาก่อนหน้าปี 2490 แล้ว

แสง นภา บุญราศรี ไม่เพียงร้องและแต่งเพลงเอง แต่เขายังใช้ประสบการณ์จากการที่เคยเป็นดาราละครร้องมาบุกเบิกการแสดงรีวิว ประกอบเพลง เช่น เมื่อร้องเพลง “คนปาดตาล” ก็แต่งชุดคนปาดตาล สมจริงสมจัง เมื่อร้องเพลง “คนลากรถขยะ” ก็นำรถขยะขึ้นเวทีประกอบบทเพลงด้วย เป็นต้นแบบให้ศิลปินรุ่นหลังอย่างเสน่ห์ โกมารชุน และคำรณ สัมบุณณานนท์

การบันทึกแผ่นเสียงเพื่อการเผยแพร่ผลงานเพลงในยุคนั้น ต้องบันทึกลงแผ่นเสียงแบบ 78 รอบต่อ 1 นาที หรือ “แผ่นครั่ง” ซึ่ง ความยาวไม่เกิน 3.15 นาที แต่เพลงของแสงนภาทุกเพลงยาวกว่า 4 นาทีขึ้นไป เขายืนหยัดที่จะแต่งเพลงยาวเช่นนี้ โดยไม่คำนึงถึงการบันทึกแผ่นเสียง แล้วเผยแพร่ผลงานของตนเองด้วยการตระเวนร้องเพลงตามสถานีวิทยุและตามงานต่างๆ พร้อมกับจัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานเพลงออกจำหน่าย ได้รับความนิยมจนต้องพิมพ์ซ้ำ

หลังปี 2492 แสงนภาเข้าไปมีบทบาทในสมาคมกรรมกรไทย ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่คำรณ สัมบุณณานนท์ นัก ร้องที่เดินตามแนวแสงนภากำลังโด่งดังถึงขีดสุด ชื่อของแสงนภาจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน เลือนหายไปพร้อมๆ กับบทเพลงของเขา ซึ่งไม่สามารถฟังได้ด้วยเทคโนโลยีการบันทึกเสียงใดๆ กล่าวได้ว่าปัจจุบันเราจะฟังเพลงของแสงนภาได้จากผู้อาวุโสอายุ 60 ปีขึ้นไป บางท่านที่ยังพอจะจดจำ “เพลงชีวิต” ของนักเพลงผู้ทระนง ท่านนี้เท่านั้น…

นักเพลงรุ่นราวคราวเดียวกับแสงนภาอีกท่านที่กล่าวได้ว่า “ถูกลืม” คือ เสน่ห์ โกมารชุน คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะนักสร้างหนังผู้โด่งดังจาก “แม่นาคพระโขนง” ทว่าก่อนหน้านั้นเขาเคยแต่งเพลงแนวชีวิตตามหลังแสงนภามาติดๆ

จากแสงนภา ถึง เสน่ห์ โกมารชุน นักเพลงยั่วล้อสังคม

ใน ยุคสมัยไล่เลี่ยกับความโด่งดังของแสงนภา ยังมีนักร้องนักแต่งเพลงแนวชีวิตอีกท่านหนึ่งคือ เสน่ห์ โกมารชุน ศิลปินเพลงประจำวงดุริยางค์ทหารเรือ เขามีผลงานเพลงหลายแนว ทั้งเพลงหวานซึ้งกินใจ อย่างเพลง “งามชายหาด” และ “วอลท์ซนาวี” แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากคือแนวเพลงชีวิตในรูปแบบ “เพลงยั่วล้อสังคม” มองโลกมองชีวิตมองการเมืองด้วยอารมณ์ตลก ขบขัน ประชดประเทียดเสียดสี เช่นเพลง “สุภาพบุรุษปากคลองสาน” หรือที่รู้จักกันในชื่อเพลง “บ้าห้าร้อยจำพวก” เสียดสีคนที่ยึดติด งมงายกับสิ่งต่างๆ ด้วยลีลาตลกขบขัน หรือเพลง “โปลิศถือกระบอง” ยั่วล้อตำรวจที่เริ่มใช้กระบองปราบผู้ร้าย

นอก จากการเป็นนักร้องนักแต่งเพลงแล้ว เสน่ห์ โกมารชุน ยังมีความสามารถรอบด้าน เป็นทั้งนักพากษ์หนัง ดาราลิเก ดาราละครวิทยุ มีชื่อเสียงต่อเนื่องจากทศวรรษ 2480 ถึงต้นทศวรรษ 2490 ก็มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดหักเหและพลิกผันของชีวิต เมื่อเขาแต่งเพลงเสียดสีนักการเมือง ชื่อ “ผู้แทนควาย” และเป็นปากเป็นเสียงให้กรรมกรสามล้อถีบ ซึ่งกำลังจะถูกรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งห้ามวิ่งในเขต พระนคร-ธนบุรี ด้วยการแต่งเพลง “สามล้อแค้น” ในเชิงประท้วงรัฐบาล จนเสน่ห์กลายเป็นขวัญใจของชาวสามล้อในปี 2492

ผลก็คือเพลง “สามล้อ”, “ผู้แทนควาย” กลายเป็นเพลงต้องห้าม ไม่ให้เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ และเมื่อวันหนึ่งเมื่อเสน่ห์ขับร้องเพลงนี้ที่เวทีเฉลิมนคร เขาก็ถูกเชิญตัวไปพบอธิบดีกรมตำรวจ อัศวินเผ่า ศรียานนท์ เจ้าของคำขวัญ “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้…” และยังมีฉายาว่า “ใครค้านท่านฆ่า” อีกด้วย

เสน่ห์ถูกเชิญตัวไปสอบสวน และให้เลือกทางที่ “อยู่” หรือ “ตาย” เท่านั้น ทำให้ในที่สุดเขาจำใจต้องเลิกแต่งและร้องเพลงแนวชีวิตยั่วล้อเสียดสีสังคม หันไปสร้างภาพยนตร์ “แม่นาคพระโขนง” ที่ส่งให้นางเอกดาวยั่ว ปรียา รุ่งเรือง โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์

ทั้ง นี้ในช่วงต้นทศวรรษ 2495 ในขณะที่เสน่ห์ต้องหยุดงานเพลงชีวิต และแสงนภา บุญราศรี ลดบทบาทนักร้องนักแต่งเพลง หันไปทำอาชีพค้าขาย พร้อมๆ กับมีบทบาทในสมาคมกรรมกรไทย ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงที่ดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการเพลงชีวิตคนใหม่ คือ คำรณ สัมบุณณานนท์กำลังเปล่งรัศมีขึ้นมาแทนที่จนครองใจแฟนเพลงสูงสุดในปี 2493 เมื่อไปเป็นพระเอกหนังเรื่อง “รอยไถ” ในขณะที่มีครูเพลงฝีมือเยี่ยม อย่างครูไพบูลย์ บุตรขัน ครู ป. ชื่นประโยชน์ และครูสุเทพ โชคสกุล ป้อนเพลงในแนวชีวิตและเพลงในแนวลูกทุ่งให้อย่างไม่ขาดสาย

แต่ภาพ ลักษณ์ช่วงแรกๆ ของพระเอกนักร้องคนนี้ในสายตาแฟนเพลง ก็คือผู้สืบทอดและสานต่อแนวเพลงชีวิตของแสงนภา บุญราศรี อย่างเด่นชัดที่สุด เพลงชีวิตที่สร้างชื่อเสียง เช่น ตาสีกำสรวล, มนต์การเมือง, กรรมกรรถราง, พ่อค้าหาบเร่, ชายสามโบสถ์ ฯลฯ ล้วนเป็นผลงานที่ครูเพลงป้อนให้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ผลงานเพลงชีวิตของครูไพบูลย์ บุตรขัน อีก 2 เพลง ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษ 2490 คือ เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” และ “ค่าน้ำนม” ที่ขับร้องโดยชาญ เย็นแข โดยเพลงแรกถูกรัฐบาลสั่งห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุ แต่ทำสถิติยอดจำหน่ายแผ่นเสียงแบบถล่มทลาย ส่วนเพลงที่สองได้กลายเป็นเพลงอภิมหาอมตะแห่งความผูกพันระหว่างแม่และลูกมา ตราบจนปัจจุบัน


ทศวรรษที่ 2480 เพลงชีวิตยุคบุกเบิก

ทศวรรษ 2480 คือจุดกำเนิดเพลงไทยสากลในแนว “เพลงชีวิต” และ เพลงเสียดสียั่วล้อสังคม อันนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ “ศิลปิน” มีบทบาทสะท้อนภาพความทุกข์ยากของผู้คน การโกงกินของผู้แทน, นักการเมือง ออกมาในบทเพลงของเขา โดยมีสภาพสังคมระหว่างสงครามและหลังสงครามเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

แสงนภา บุญราศรี คือ หัวหอก ผู้บุกเบิกและผู้จุดประกายไฟให้เกิดศิลปินในแนวนี้ตามมาอีกหลายคน โดยเฉพาะคำรณ สัมบุณณานนท์ ซึ่ง จะแสดงบทบาทสำคัญในแนวเพลงชีวิตในทศวรรษต่อมา คือตั้งแต่ราวปี 2490 เป็นต้นไป อันถือเป็นยุคปลายของชีวิตนักร้องผู้แทนคนยากอย่าง แสงนภา บุญราศรี ก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง 36 ปี

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า แนวเพลงชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างสง่างามในทศวรรษที่ 2480 คือ รากฐานของแนวเพลง “ลูกทุ่ง” ซึ่ง ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการช่วงหลังปี 2500 อันเป็นแนวเพลงที่มุ่งเน้นสะท้อนสภาพสังคมด้วยภาษาลีลาที่เรียบง่าย กินใจ ไม่ต่างจากแนวเพลงชีวิตที่ แสงนภา บุญราศรี บุกเบิกไว้ เพียงแต่ต่อมาเพลงลูกทุ่งได้พัฒนาแนวเนื้อหาไปอย่างหลากหลาย

หาก แต่รากฐานเดิมนั้นเล่า คือการสะท้อนภาพสังคมของชนชั้นล่างโดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ในชนบท อย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่แตกต่างจากแนวเพลงชีวิตเลย

ทศวรรษที่ 2490 ขุมทองของเพลงชีวิต

ความ ตื่นตัวในวงการเพลงที่มีสถานีวิทยุและธุรกิจแผ่นเสียงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทำ ให้รูปแบบและเนื้อหาเพลงชีวิตในทศวรรษ 2590 พัฒนาไปในทิศทางที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แพร่กระจายไปสู่ความรับรู้ของมวลชนระดับกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการที่แนวเพลงรักหวานชื่นของวงดนตรีสุนทราภรณ์กำลังได้รับความนิยมอย่าง มากในยุคนี้ แนวเพลงชีวิตก็มี คำรณ สัมบุณณานนท์ เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ที่เด่นชัด โดยมีนักประพันธ์เพลงคนสำคัญคือ ไพบูลย์ บุตรขัน ป้อนเพลงให้จนคำรณพุ่งขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดในยุคนี้เช่นกัน โดยมีนักร้องร่วมสมัยอย่างชาญ เย็นแข, ชลอ ไตรตรองสอน และปรีชา บุญเกียรติ เติมสีสันให้วงการเพลงชีวิตมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การปิดกั้นเพลงชีวิตบางเพลงด้วยการไม่อนุญาตให้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ โดยรัฐบาลจอมพล ป. ในยุคนั้น ไม่แตกต่างไปจากการที่คณะกรรมการบริการวิทยุและโทรทัศน์ (กบว.) สั่ง “แบน” เพลงบางเพลงในยุคนี้ คือยิ่งห้าม เทปและแผ่นเสียงก็ยิ่งขายดี

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะที่โรงละครหลายแห่งปิดเวทีแล้วหันไปฉายภาพยนตร์แทน ในปลายทศวรรษนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อนักร้องเพลงชีวิตอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะนักร้องแนวนี้ส่วนใหญ่เป็น “นักร้องสลับฉาก” ตามเวที ละคร เมื่อละครปิดฉากลง พวกเขาหลายคนต้องดิ้นรนออกไปเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดกับวงดนตรีของคน อื่นๆ หรือวงดนตรีที่ตนเองตั้งขึ้น และได้กลายเป็นที่มาของวงดนตรีลูกทุ่งที่เฟื่องฟูมากในทศวรรษต่อมา อันเป็นทศวรรษที่มีการแบ่งแยกเพลงออกเป็น “ลูกกรุง” “ลูกทุ่ง” เป็นครั้งแรกของวงการเพลงเมืองไทย และเป็นยุคที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ตลอดทั้งทศวรรษ 2500

ซึ่งนับเป็นทศวรรษที่เพลงชีวิตซบเซาถึงขีดสุด ในขณะที่เพลงลูกทุ่งเริ่มฟูเฟื่องพร้อมๆ กับได้เกิดเพลงชีวิตอีกแนวหนึ่งโดยนักเขียนนาม “จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้นภายในกำแพงคุก ในช่วงที่เขาถูกจองจำในฐานะ “นักโทษการเมือง” และเพลงของจิตรนี้เองที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่การเป็นต้นแบบของ “เพลงเพื่อชีวิต” ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย

จนกระทั่ง “เพลงเพื่อชีวิต” กลายเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยที่สังคมให้การยอมรับตราบจนปัจจุบัน อันนับเป็นระยะเวลาที่ห่างจากเพลงยุคบุกเบิก “เพลงชีวิต” โดยแสงนภา บุญราศรี ราวกึ่งศตวรรษหรือ 50 ปีพอดี


จิตร ภูมิศักดิ์ ต้นธารเพลงเพื่อชีวิต

เสียง เพลงเสียงดนตรีเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการสร้างความบันเทิงเริงรมย์แก่ชีวิต เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น บางครั้งเสียงเพลงถูกนำมาใช้เพื่อจุดมุ่งหมายอื่นอีก เช่น ปลุกใจให้รักพวกพ้อง รักชาติ ฯลฯ แน่นอนเสียงเพลงยังเป็นเพื่อนคลายเหงาบรรเทาความร้าวรานของผู้ทุกข์ยากและ ผู้ถูกกดขี่ด้วย

ยุคเผด็จการครองเมืองก่อน 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นยุคทองของเพลงรัก เพลงสายลมแสงแดด และเพลงเต้นรำ ท่ามกลางความมืดมิดในห้วงเวลานั้นมีปัญญาชนผู้หนึ่ง “จิตร ภูมิศักดิ์” ได้เขียนบทความเสนอแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นมา แนวคิดเพื่อชีวิตและการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นพลังบันดาลใจให้เกิดแนวเพลงใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ “เพลงเพื่อชีวิต” กล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า เพลงเพื่อชีวิตคือ เพชรเม็ดงามทางด้านวัฒนธรรม อันเกิดจากเหตุการณ์ 14 ตุลา


เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519)

เมื่อ พูดถึง เพลงเพื่อชีวิต เรามักจะนึกถึงเหตุการณ์บ้านเมืองสมัย 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่บทเพลงเพื่อชีวิตในแบบของปัญญาชนได้ถือกำเนิด และทำหน้าที่ของมันจนถึงขีดสุด กระทั่งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ทางการเมืองในยุคสมัยนั้น

เพลงเพื่อชีวิต นั้นมีผู้กล่าวว่า “หมายถึงเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน”

จริง อยู่ การเปลี่ยนแปลงของสังคมในอดีตนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เพลงเพื่อชีวิตและกลุ่มศิลปินเพลงในอดีตก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเขาตีแผ่เรื่องราวความไม่เป็นธรรมของสังคมเราออกมาอย่างไร
“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเขาปลูกฝังอุดมคติอะไรให้แก่คนหนุ่มคนสาวและประชาชน
“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเราเรียกร้องสิ่งใดกลับคืนมาจากนักปกครองเผด็จการ และส่งคืนสิ่งใดให้แก่ประชาชน

คำถามเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องมีคำตอบเพราะเพียงแต่ท่านได้ยิน และจดจำบทเพลงเหล่านั้นได้ คำตอบของมันก็จะอยู่ในใจของท่านตลอดไป

“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ สู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาดเขาจะฟัน เราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย สู้เข้าไปพวกเราเสรีชน”

นี่คือบทเพลง “สู้ไม่ถอย” ซึ่งเป็นบทเพลงแรกของเพลงเพื่อชีวิต แต่งขึ้นในโอกาสชุมนุมประท้วงคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง 272/2516 ที่มีมติให้ลบชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย จึงนำมาลงตีพิมพ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายย้อนเวลากลับสู่เหตุการณ์ในอดีต อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของประเทศ ไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกระแสสากลนั้น ได้ให้กำเนิดบทเพลงเพื่อชีวิต และศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่างไร

ปี พ.ศ.2514 รัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งเป็นการสถาปนาอำนาจของกลุ่ม ครอบครัวกิตติขจรและครอบครัวจารุเสถียร ได้ทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อตรึงอำนาจของตัวเองอย่างแน่นหนา โดยให้จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้ถือครองอำนาจเผด็จการ และให้จอมพลประภาส จารุเสถียร คุมกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย รวมทั้งประมวลข่าวกรอง กอ.รมน. และให้ลูกเขย พันเอกณรงค์ กิตติขจร มีบทบาทอย่างสูงในวงการเมืองช่วงนั้น

สถานการณ์ บ้านเมืองในตอนนั้นเป็นบรรยากาศของเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบ การแสดงออกทางความคิดเห็นของนักศึกษาปัญญาชนและประชาชนทั่วไป ถูกจำกัดแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตผู้มีความรู้ก็ไม่ ได้รับการยกเว้น การปกครองด้วยกฎอัยการศึกของรัฐบาลทหารได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจในหมู่ ประชาชน บ้านเมืองคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวของคอร์รัปชั่น

จนมาถึงช่วง ที่รัฐบาลเผด็จการทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ซึ่งมีแต่การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติเพียงสภาเดียว และออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ความไม่พอใจของประชาชนก็ปะทุขึ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ ทำการประท้วงคัดค้าน จนต้องมีการประชุมยกเลิกประกาศฉบับนั้น เหตุการณ์นั้นเองที่นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของขบวนการนักศึกษา

ปี พ.ศ.2516 สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่กระเตื้องขึ้น ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์กรณี “ทุ่งใหญ่” ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเหลวแหลกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการพาดาราสาวไปเที่ยวล่าสัตว์ในป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อเครื่องบินลำดังกล่าวตกจึงพบซากสัตว์ป่าที่ถูกล่ามากมาย เป็นผลให้สื่อมวลชนและนักศึกษาร่วมมือกันตีแผ่เปิดโปงการกระทำผิดกฎหมายของ ฝ่ายราชการ โดยได้รับความสนใจจากประชาชน ภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก

กรณีดังกล่าว ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือในนาม “ชมรมคนรุ่นใหม่” ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยยังไม่มีคำตอบ” ตีพิมพ์ข้อความกระทบกระแทกปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่อ้างว่าเพราะสถานการณ์ต่างประเทศไม่น่าไว้วางใจ หนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำเสียดสี “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี”

ผล จากกรณีดังกล่าว ทำให้นักศึกษาทั้ง 15 คนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และ 9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากเห็นว่าไม่เป็นการยุติธรรม จึงพากันรวมตัวประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมประท้วงข้ามวันข้ามคืน ทั้งมีการแต่งเพลง “สู้ไม่ถอย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ ถือกำเนิดบทบาทของการเป็นศิลปินเพื่อชีวิตขึ้นมาในเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในการประท้วง คอยแต่งบทกลอนต่างๆ ส่งให้โฆษกบนเวทีอ่านให้ประชาชนฟัง เพื่อปลุกเร้ากำลังใจและรวบรวมความคิดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเขาได้แต่งเพลง “สานแสงทอง” โดยเอาทำนองมาจากเพลง FIND THE COST OF FREEDOM ของวงดนตรี ครอสบี สติล แนช แอนด์ ยังก์ เนื้อร้องมีอยู่ว่า

“ขอผองเราจงมาร่วมกัน ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่
สานแสงทองของความเป็นไทย ด้วยหัวใจบริสุทธิ์”

บทเพลง “สู้ไม่ถอย” และ “สานแสงทอง” เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยบทเพลงสู้ไม่ถอยนั้นเป็นเพลงมาร์ชปลุกใจที่ใช้ในการรวมพลังประท้วง ส่วนเพลงสานแสงทองเกิดจากความคิดคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชน แต่ทั้งนี้นี่คือจุดกำเนิดของบทเพลงเพื่อชีวิต นั่นเอง

การประท้วง ครั้งนั้นประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถลดอุณหภูมิความไม่พึงพอใจในการปกครองของรัฐบาลเผด็จการ ทหารได้ เนื่องจากสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ เต็มไปด้วยปัญหานานาประการทั้งทางเศรษฐกิจ ปัญหาชาวนา กรรมกรรถไฟ แหล่งเสื่อมโทรม และการคอรัปชั่น

หลังการประท้วงครั้งนั้นไม่นาน ได้มีนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกว่า “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ทำ การแจกใบปลิวและหนังสือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สุดพวกเขาทั้ง 15 คน ถูกจับกุมในข้อหาว่าเป็นกบฏและมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์

จุด เริ่มต้นเล็กๆ นี้ นำไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยซึ่งไม่มีใครคิด มาก่อน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จับมือผนึกกำลังกันเคลื่อนไหว โดยใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางการชุมนุมได้รับความร่วมมือจาก ประชาชนทุกฝ่ายซึ่งมองเห็นว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุ กระทั่งในที่สุด ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดภายในเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม 2516 แต่รัฐบาลบอกปัดปฏิเสธ

ดัง นั้น คลื่นนักศึกษาประชาชนนับแสนๆ จึงเคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และลานพระบรมรูปทรงม้า และแล้วความผิดพลาดก็เกิดขึ้นเมื่อการสื่อสารระหว่างตัวแทนนักศึกษาที่เข้า เจรจากับฝ่ายรัฐบาลขาดการติดต่อกับตัวแทนที่ทำหน้าที่กุมสถานการณ์มวลชน การชุมนุมประท้วงจึงดำเนินต่อไปจนล่วงเข้าสู่วันใหม่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวนักศึกษาปัญญาชนที่ถูกควบคุมตัวแล้วก็ตาม

แล้ว ที่สุดก็เกิดการปะทะต่อสู้กันระหว่างตำรวจทหารกับประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เจ้าหน้าที่ยิงก๊าซน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วง สถานการณ์ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสงครามกลางเมือง สถานที่ราชการหลายแห่งถูกประชาชนเผาทำลาย ชีวิตเลือดเนื้อจำนวนมากถูกเข่นฆ่า นับเป็นความเสียหายร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะเหตุว่าคนไทยทำต่อคนไทยด้วยกันเอง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยุติลง เมื่อผู้เผด็จการทั้งสามหนีออกนอกประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

รัฐบาลภายใต้การนำของ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็น รัฐบาลพลเรือนที่สนับสนุนบทบาทของนักศึกษาในเรื่องประชาธิปไตย โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกผู้คนอย่างเต็มที่ กระทั่งทำให้เกิดมีความโน้มเอียงไปในทางที่นักศึกษาสนับสนุนลัทธิสังคมนิยม กันอย่างแพร่หลาย อาทิ มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชี้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ประชาชนในเวลานั้นยังไม่ยอมรับ มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ลัทธิของมาร์กซ-เลนิน นำเสนอประเด็น ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ฯลฯ ได้รับการ เปิดเผยสู่สายตาของนักศึกษาและประชาชนอย่างกว้างขวาง

เรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำความคิดทางการเมืองหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามในอดีต เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ได้รับการกล่าวขานถึง แตกหน่อเป็นความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่กำลังแสวงหาแนวทางเพื่อชีวิตใหม่ ที่ดีกว่าชีวิตในสังคมเก่า แนวคิดต่างๆ ที่กล่าวมา ได้ถูกเผยแพร่ออกมาคล้ายกับเพลงเพื่อชีวิตที่ประท้วงสงครามเวียดนามในสหรัฐ อเมริกา

วงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่คนรุ่นนั้นเป็นอย่างมาก คือวงดนตรี “คาราวาน” ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีต…

สุรชัย จันทิมาธร นักเขียนหนุ่มผู้มีนามปากกาว่า “ท.เสน” กับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี เจ้าของนามปากกาว่า “สัญจร” ทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมกิจกรรมการประท้วงมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรี “ท.เสนและสัญจร” เพื่อ ร่วมแสดงดนตรีในการชุมนุมประท้วง ครั้งหนึ่ง คนทั้งสองร่วมกันแสดงดนตรีในงานนิทรรศการเพลงเพื่อชีวิต โดยเล่นเพลง คนกับควาย เปิบข้าว และข้าวคอยฝน ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ทางดนตรีต่างจากดนตรีทั่วไปในขณะนั้น ที่มีเพียงวงดนตรีสุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง และ สวลี ผกาพันธ์ ครองใจผู้ใหญ่ และวงดนตรี ดิ อิมพอสซิเบิล ครองใจวัยรุ่น

บทเพลงของ “ท.เสนและสัญจร” ในเวลานั้นเป็นการนำพื้นฐานดนตรีตะวันตกมาประยุกต์เข้ากับเนื้อร้องภาษาไทย ได้รับการต้อนรับจากนักศึกษาปัญญาชนอย่างอบอุ่น เนื้อหาเพลงบรรยายภาพความทุกข์ยากของชาวไร่ชาวนาอย่างลึกซึ้งเกาะกินใจ เช่น ท่อนหนึ่งของเพลง “ข้าวคอยฝน” ที่ว่า

“อยู่อย่างข้าวคอยฝน บ่พ้นราแรงแห้งตาย
ชีวิตชีวาน่าหน่าย จะหมายสิ่งหมายไม่มี
จากบ้านเกิดเมืองนอน พเนจรลูกเล็กเด็กแดง
สองขาของเฮามีแฮง ตะวันสีแดงส่องทาง”

ในการแสดงดนตรีทุกครั้งของ ท.เสนและสัญจร จะมีการบันทึกแถบเสียงเพื่อไว้ใช้เผยแพร่ในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พวกเขาได้เดินทางแสดงดนตรีไปกับโครงการเผยแพร่ ประชาธิปไตย ก็ยิ่งทำให้บทเพลงของเขาเป็นที่เผยแพร่และนิยมกันแพร่หลายกว้างขวางออกไป โดยเฉพาะที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพวกเขาได้มีโอกาสเปิดการแสดงบ่อยครั้ง

ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง ท.เสนและสัญจร ได้มีโอกาสรู้จักกับวงดนตรี บังคลาเทศแบนด์ ที่มี ทองกราน ทานา และมงคล อุทก เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ ทั้งสองวงเล่นดนตรีในงานเดียวกันหลายครั้ง จนกระทั่งสนิทสนมคุ้นเคยกัน

กลางปี พ.ศ.2517 กลุ่มผู้หญิงและชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดนิทรรศการ “การต่อสู้ทางวรรณกรรม” ทั้งสองวงดนตรีได้ร่วมกันแสดงเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อวงดนตรี “คาราวาน” ซึ่งหมายถึงการเดินทางไม่สิ้นสุด คาราวานในตอนเริ่มต้นมีสมาชิก 4 คน คือ สุรชัย จันทิมาธร, วีระศักดิ์ สุนทรศรี, มงคล อุทก และทองกราน ทานา

วงดนตรีคาราวานเป็น จุดเริ่มต้นการขยายตัวของดนตรีเพื่อชีวิต พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงมากมาย โดยการเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษา ความโด่งดัง และความสามารถในเชิงดนตรีของพวกเขาส่งผลให้บทเพลงเพื่อชีวิตสามารถเปิดการ แสดงร่วมกับวงดนตรีในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานแผ่นเสียงแถบบันทึกเสียง หรือเปิดการแสดงตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งก็ทำรายได้ให้แก่พวกเขาตามสมควร

ผลงานชุดแรกของคาราวานชื่อ “คนกับควาย” มีเนื้อหาสาระสะท้อนความทุกข์ยากของชาวนา และชุดที่สองชื่อ “อเมริกันอันตราย” เป็นบทเพลงต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกา

ปี พ.ศ.2517-2519 เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมสูงสุดในแวดวงนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน วงดนตรีเพื่อชีวิตหลายวงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่ละวงมีลีลาการแสดงออกที่แตกต่างกัน พวกแรกเป็นพวกที่มีท่วงทำนองลีลาผสมผสานตะวันออกกับตะวันตก ใช้เครื่องดนตรีอคูสติค เช่น กีตาร์ ไวโอลิน ซึง ฮาโมนิก้า และเครื่องดนตรีเคาะจังหวะ ได้แก่ คาราวาน, คุรุชน, กงล้อ, รวมฆ้อน, โคมฉาย ส่วนอีกพวกหนึ่งจะใช้เครื่อง ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์บรรเลง เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความคึกคัก เช่น กรรมาชน, รุ่งอรุณ และไดอะเล็คติค และอีกพวกหนึ่งจะมีท่วงทำนองเพลงไทยเดิมและพื้นบ้านประยุกต์ ได้แก่ ต้นกล้า และลูกทุ่งสัจธรรม ฯลฯ

เพลง เพื่อชีวิตในยุคนั้นมีมากกว่า 200 เพลง เนื้อหาทั้งหมดครอบคลุมกิจกรรมที่พวกนักศึกษาปัญญาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยสรุปบทเรียนจากสถานการณ์บ้านเมือง และอิงเนื้อเรื่องและบทกวีจากนักคิดนักเขียนรุ่นเก่าๆ เนื้อหาทั้งหมดคาบเกี่ยวระหว่างการสะท้อนปัญหาบ้านเมืองกับการแสดงออกซึ่ง อุดมคติในการสร้างสรรค์สังคมใหม่ โค่นล้มอำนาจรัฐ ชี้นำอุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งนักศึกษายุคนั้นเชื่อว่าสามารถแก้ไขความเสื่อม ทรามของสังคมได้ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การครอบงำของ จักรวรรดินิยมอเมริกา

มีบทเพลงหนึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ชื่อเพลง “นกสีเหลือง” เป็นที่นิยมร้องกันแพร่หลาย เนื้อหาสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี…

“เจ้าเหินไปสู่ห้าวหาว เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
อาบปีกด้วยแสงตะวัน เจ้าฝันถึงโลกสีใด
คุณจำได้ไหม เหตุการณ์เมื่อวันที่สิบสี่สิบห้าตุลาคม
คุณจำได้ไหม รอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้คน
วีรชนคนหนุ่มสาวของเราได้ตายไปท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตา
ตายไปขณะชูสองมืออันว่างเปล่าเพื่อเรียกร้องหาเสรีภาพ
ณ บัดนี้ขอให้พวกเราจงพากันหยุดนิ่ง
และส่งใจระลึกถึงไปยังพวกเขาเหล่านั้น
อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ
และจะได้เป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่จะอยู่ต่อสู้อีกต่อไป…”
(บทเพลง “นกสีเหลือง” แต่งโดย วินัย อุกฤษณ์ ร้องและบรรเลงโดย คาราวาน)

ระหว่าง ปี พ.ศ.2516-2519 สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย สับสน และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างความคิดลัทธิความเชื่อ ประเทศไทยเปลี่ยนคณะรัฐบาลหลายครั้งในชั่วเวลาเพียงสามปี นักศึกษาถูกทำให้มองว่าเป็นพวกก่อความวุ่นวายให้แก่สังคม ขณะที่พวกฝ่ายขวาก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อสกัดกั้นและต่อต้านนักศึกษาในทุกวิถี ทาง

การเผชิญหน้าระหว่างคนทั้งสองกลุ่มคือ “ฝ่ายซ้าย” และ “ฝ่ายขวา” เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ฝ่ายขวาจัดก็คือ ฝ่ายราชการ ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล และกระทิงแดง ที่ พยายามกดดันการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายให้เป็นไปอย่างยากลำบาก และในที่สุดจุดแตกหักก็มาถึง เมื่อนักศึกษารวมตัวกันต่อต้านการกลับมาเมืองไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร กลาย เป็นเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นิสิต นักศึกษา ประชาชน ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง เป็นเหตุการณ์เศร้าสลดเมื่อคนไทยเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนั้นวงดนตรีคาราวานกำลัง เปิดการแสดงร่วมกับผู้ชุมนุมประท้วงในจังหวัดขอนแก่น เมื่อได้ทราบข่าวก็หยุดการแสดง หลบหนีการล่าสังหารไปพร้อมกับเพื่อนนักดนตรีจากวงโคมฉาย รวม 11 คน เดินทางมุ่งสู่ป่าเขา



เพลงเพื่อชีวิตยุคหลัง 6 ตุลา 19 (พ.ศ.2520-2524)

บรรยากาศ แห่งประชาธิปไตยถูกทำให้ชะงักลงกะทันหันด้วยเหตุการณ์มหาโหดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายที่มีความคิดก้าวหน้า อันมีนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร นักเรียนอาชีวะ และลูกเสือชาวบ้าน

การ ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของฝ่ายหลังเป็นเหตุให้เกิดการสังหารโหดภายใน มหาวิทยาลัย การต่อสู้กันด้วยความรุนแรงทางการเมืองในครั้งนั้น นำไปสู่การเสียเลือดเนื้ออย่างมากมายของนิสิตนักศึกษา ยังความตระหนกและเศร้าสลดใจต่อประชาชนทั่วโลก

และในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั่นเอง ได้มีการยึดอำนาจทางการเมืองขึ้น นำโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า มีการประกาศเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและมีการตั้งคณะรัฐมนตรีพลเรือนมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นการสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ได้มาด้วยการต่อสู้รวมตัวกันของนิสิต นักศึกษา ประชาชน

จาก สถานการณ์ทางการเมืองจุดนี้ นับได้ว่าเป็นจุดสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการทางความคิดของนักศึกษาปัญญาชนให้ก้าว หน้าไปอย่างรวดเร็ว ความคับแค้นต่อการถูกกระทำ ต่อภาพที่ได้เห็น ต่อการบาดเจ็บล้มตายของเพื่อนฝูง นับเป็นบรรยากาศที่บีบคั้นทางความคิดอย่างใหญ่หลวง ทำให้นักศึกษาปัญญาชนส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกเอาหนทางที่เหลืออยู่เพียงทาง เดียวคือ เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับปืนขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการพลเรือนซึ่งมีทหารคอยหนุนหลัง

“อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่ คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร”

การ ตบเท้าสู่ภูผาของนักศึกษาปัญญาชนในครั้งนั้น เป็นที่แน่นอนว่าย่อมเป็นขบวนแถวที่มีทั้งนักศึกษาทุกสาขาวิชา และในจำนวนนั้นก็มีคนที่ทำงานด้านศิลปะรวมอยู่ด้วย ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตหลายคนได้ตัดสินใจกางปีกหลีกบินจากเมือง เพื่อร่วมขบวนการต่อสู้ในครั้งนี้ บทเพลง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ที่วัฒน์ วรรลยางกูร เขียน สุรชัย จันทิมาธร ใส่ ทำนองนั้นดูจะเป็นถ้อยร้อยที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์และเป้า หมายแห่งการต่อสู้ของพวกเขา เนื่องจากรัฐบาลได้สร้างความคับแค้นกับพวกเขาอย่างแสนสาหัส และการมีชีวิตอยู่ในเมืองมิได้ให้ความหวังอะไรในชีวิตแก่พวกเขาเลย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่างานเพลงเพื่อชีวิตที่เคยก้องกังวานอยู่ในมหาวิทยาลัยบน เวทีประท้วง บนสนามหญ้าอันกว้างใหญ่ ได้คืบสู่ป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากยุคประชาธิปไตยเบ่งบานในป่าเขาลำเนาไพรนี้ อันเป็นงานเพลงเพื่อชีวิตที่เป็นงานการเมืองรับใช้พรรคคอมมิวนิสต์อย่าง สมบูรณ์แบบ

“ค่ำคืนเมฆฟ้ามืดมนมาเนิ่นนาน ผู้คนทนทุกข์ใต้ฟ้าสีดำ
เสรีถูกย่ำปี้ป่น คนเหยียบกัน”

การเกิดขึ้นของรัฐบาลเผด็จการพลเรือนโดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นรัฐบาลนั้น ยังความอึมครึมระอุร้อนให้เกิดขึ้นในขบวนแถวประชาธิปไตยอย่างยิ่ง จะว่าไปแล้วในช่วงนี้อาจจะนับได้ว่าเป็นยุคมืดทางการเมืองไทยได้ยุคหนึ่งที เดียว รัฐบาลซึ่งเปรียบเสมือนเนื้อหอยนิ่มๆ อันมีเปลือกหอยซึ่งได้แก่ทหารคอยให้ความคุ้มครอง ได้วางแผนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยออกเป็นช่วงๆ กินเวลาทั้งหมด 12 ปี

นโยบาย ที่เด่นชัดที่สุดคือ การต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบให้เห็นถึงหายนะภัยอันเกิดจากลัทธิ และขบวนการทางการเมืองของพวกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่า บรรดานักศึกษาประชาชนที่เปลี่ยนวิถีทางเข้าต่อสู้กับรัฐบาลในป่าเขานั้นคือ เป้าหมายหนึ่งที่รัฐจะต้องปราบปรามให้ราบคาบ

นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดเสรีภาพทางความคิดอย่างมากที่สุด มีการตรวจสอบสิ่งตีพิมพ์และประกาศรายชื่อหนังสือที่ห้ามอ่าน หรือมีไว้ในครอบครองจำนวน 204 รายการ มีการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกหนังสือพิมพ์เพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเอง ได้แก่ หนังสือพิมพ์เจ้าพระยา และมีการออกรายการโทรทัศน์ของบรรดาคณะรัฐมนตรีอยู่เป็นประจำ ทั้งแถลงการณ์และออกมาร้องเพลงเชียร์รัฐบาลเอง

นอก จากนี้ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็ถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก งดการจัดอภิปรายทางการเมือง และการแสดงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งรับสื่อจากฝ่ายราชการมากกว่ามองว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกขายชาติ วัฒน์ วรรลยางกูร และคาราวานอาจมองว่า “อ้อมอกภูพาน คือชีวิตใหม่คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ” ขณะที่คนภูพานองมองว่า “แผ่นดินของพวกเขากำลังลุกเป็นไฟ” และ ขณะที่วัฒน์บอกว่าจะยาตราจากภูพานกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์นั้น เรามาดูความรู้สึกนึกคิดแบบลูกทุ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกซื่อๆ และจริงใจอย่างยิ่งในท่อนจบของเพลงภูพานสะอื้นว่า

“ตัวไกลใจพี่ห่วงอีสาน ห่วงสาวภูพานข่าวกล่าวขานเคยได้ยิน
หลงผิดไฉนวิงวอนให้น้องยุพิน จงคิดกลับใจถวิล
สร้างสรรค์ถิ่นเฮาเทือกเขาภูพาน”

แม้ ว่าระยะนี้งานในแนวเพลงเพื่อชีวิตจะมิได้มีปรากฏสู่สายตาประชาชน แต่ในขบวนแถวของนักศึกษาปัญญาชนที่อยู่ในเมืองแล้ว ยังคงมีการสานต่อทางความคิดของศิลปินเพลงในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่ตลอด เวลา ในท่ามกลางค่ำคืนที่เมฆฟ้ามืดดำเช่นนั้น ยังมีการเดินทางสู่ฟ้าสางอย่างต่อเนื่อง

“ตะวันคือแสงเพื่อเพื่อนไทยใสสว่าง เกิดแล้วฟ้าสางส่องทางอุทิศตน
ทำลายล้างความมืดมน เพื่อมวลชนที่ทนทุกข์เห็นแสงชัย”

การ พยายามสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับประเทศชาติ (ซึ่งก็คือรัฐบาล) นั้น แท้ที่จริงกลับผิดพลาดพลิกผันอย่างมหาศาล รัฐบาลถูกมองในแง่ตลกเกินเลย และมีการเยาะเย้ยถากถางเป็นการบ่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเอง ในจำนวนกลุ่มที่พยายามทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลนั้น ก็มีทหารบางกลุ่มรวมอยู่ด้วย

เพียงไม่ถึงครึ่งปีที่รัฐบาลคอยบริหารประเทศก็มีการพยายามใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 นำโดยพลเอกฉลาด หิรัญศิริ แต่ ไม่สำเร็จ และพลเอกฉลาดถูกตัดสินประหารชีวิต จากสภาพการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ได้มีการแตกแยกเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำโดยเฉพาะทหาร และชี้ให้เห็นถึงเสถียรภาพที่อ่อนมากของรัฐบาล ในที่สุดฝ่ายทหารก็ยึดอำนาจได้สำเร็จเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 รัฐบาลใหม่หลังการยึดอำนาจมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

การ คลี่คลายทางการเมืองหลัง พ.ศ.2520 อันเป็นนโยบายการผสมผสานระหว่างการเมืองรูปแบบเก่า กับการรอมชอมการเปลี่ยนแปลง เพื่อสนองตอบสภาวะแวดล้อมอันใหม่ นั่นก็คือ การควบคุมอำนาจทางการเมืองขั้นพื้นฐานไว้ในมือข้าราชการ (ทหารเป็นนายก) ขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้แสดงออกในรูปแบบของการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ขณะเดียวกันก็มีวุฒิสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร

นับเป็นช่วงผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง

รัฐบาล ตรวจสอบสื่อมวลชนน้อยลง วิทยุ โทรทัศน์ มีเสรีภาพในการจัดรายการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีสิ่งพิมพ์ที่แสดงความคิดก้าวหน้าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ออกมาได้ เช่น มติชน อาทิตย์ โลกหนังสือ และงานพ็อกเก็ตบุ๊คของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า เป็นต้น

ในแวดวงนักศึกษา ปัญญาชน ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวต้อนรับรุ่งสางแห่งภูมิปัญญานี้อย่างคับคั่ง เริ่มมีการเกิดขึ้นของการอภิปรายทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาต่างๆ ในสังคม อย่างเปิดเผย

และแน่นอน ในขบวนการแถวดังกล่าวมีการเกิดขึ้นของวงดนตรีเพื่อชีวิตทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย วงที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ วงแฮมเมอร์ และวงฟ้าสาง ซึ่งลักษณะของวงดนตรีเป็นวงโฟล์คที่เน้นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทสาย แนวดนตรีและเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่เน้นหนักในการสะท้อนภาพสังคมและชีวิต ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะภาพความอดอยากยากจนในชนบทภาคอีสาน ซึ่งอาจถือว่าเป็นเนื้อหาหลักที่ วงฟ้าสาง นำเสนอ เช่น เพลงลำเพลินเบิ่งอีสาน อีสานคืนถิ่น อีสานคนยาก เซิ้งสามัคคีอีสาน และนี่แหละชีวิต

อย่าง ไรก็ดีวงฟ้าสางเองก็ยังคงเป็นวงดนตรีที่แสดงจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวง มหาวิทยาลัยตามงานอภิปรายหรือนิทรรศการต่างๆ เช่น งานนิทรรศการบ้านเรา งานรับเพื่อนใหม่ โดยแสดงประกอบงานนั้นๆ นอกจากนี้ ก็ยังมีวงดนตรีที่เล่นเพลงแนวเพื่อชีวิตหลายวงได้แก่ วงชีวี ซึ่งแนวดนตรีคล้ายๆ กับวงฟ้าสาง แต่ จุดที่ชีวีเน้นกลับไม่ใช่ความยากจนในชนบท หากเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นการใช้สื่อเสียงเพลงปลุกสำนึกเน้นย้ำอุดมการณ์ จุดประสงค์ของชีวีซึ่งอยู่ที่การได้เปิดเผยความจริง และได้ระบายความรู้สึกที่บีบคั้นอย่างเศร้าหมองมาโดยตลอด ความคิดที่รุนแรงและอารมณ์ความรู้สึกที่เจ็บปวดร้าวได้สะท้อนออกมาดังบทเพลง “เรามิใช่หนุ่มสาวแสวงหาอีกต่อไปแล้ว” ที่ว่า

“ความตายเพื่อนเราเป็นบทเรียน เราไม่เยาว์ เราไม่เขลา และไม่ทึ่ง
เราจึงต่อสู้เชือดเฉือน แม้ความยุติธรรมนั้นรางเลือน
แต่เรายังมีเพื่อนร่วมเดินทาง ที่นี่ ที่ไหน ล้วนสาวหนุ่ม
ร้อนรุ่มรวมพลังสรรค์สร้าง ดวงดาวแห่งศรัทธาส่องนำทาง
แม้ร่างสูญลับกับแผ่นดิน”

นอกจากเพลงนี้ยังมีเพลง ‘เสรีภาพไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ, ขอเพื่อนจงยืนหยัด, มาร่วมกันพลิกฟ้า, ฝ่าพายุ, บทเรียนแห่งความตาย’ ซึ่งเพลงเหล่านี้ล้วนเป็นผลแห่งความรุนแรงทางการเมืองในยุค 6 ตุลาทมิฬ ทั้งสิ้น นอกจากวงชีวีแล้ว ก็ยังมีวงสตริง อมธ. ของ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเล่นเพลงในแนวสตริงเร่าร้อนและนำเอาเพลงจากยุค 14 ตุลา มาเล่นบ้างเพลงใหม่บ้าง นอกจากนั้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมีวงเกี่ยวดาว, ดาวเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มี วงนฤคหิต และที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีวงประกายดาว

อีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงคือ วงกอไผ่ ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตหนุ่มสาวของ มศว.บางแสน ที่รวมตัวกันเล่นดนตรี บทเพลงของพวกเขาสะท้อนออกซึ่งอุดมการณ์แห่งชีวิต เช่น เพลงกอไผ่ ที่พูดถึงความสามัคคีนำมาซึ่งเป้าหมายแห่งอุดมคติได้บรรลุชัย เพลงครู ที่ พูดถึงความเสียสละท่ามกลางความยากจนข้นแค้น อย่างไรก็ดีวงกอไผ่นั้นมิได้เน้นย้ำอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นวงดนตรีเพื่อ ชีวิตอื่นในมหาวิทยาลัย นอกจากวงดนตรีเหล่านี้แล้ว ก็มี วงลูกทุ่งเปลวเทียน, พลังเพลง, น้ำค้าง,ห พรีเชียสลอร์ด (เป็นวงชนะเลิศการประกวดเพลงโฟล์คซอง) , ทะเลชีวิต เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับเพลงเพื่อชีวิต ในช่วงนี้ ก็เป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากแนวคิดในยุค 14 ตุลา นั่นเอง

“ยุค สมัยได้ย้อนรอยกลับไปสู่ยุคแสวงหาอันสับสนของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง เรามองเห็นสำนึกบางอย่างที่มีอยู่ แน่นอนมันเป็นสำนึกในทางที่ดีงาม มีความหวัง และในความหมายถึงวันข้างหน้าว่า สำนึกเช่นนี้จะก้าวไปหาชีวิตที่ดีกว่า…” ดังนั้นบทเพลงในช่วงนี้จึง

มุ่งสะท้อนปัญหาผู้ยากไร้
มุ่งสะท้อนเรื่องราวของคนหนุ่มสาว
มุ่งสะท้อนเรื่องราวของ เหตุการณ์ 6 ตุลา


เพลงป่า-เพลงปฏิวัติ (พ.ศ.2520-2524)

จากต้นทางไกลโพ้น “เพลงเพื่อชีวิต” ก่อ รูปเป็นขบวนการทางศิลปะท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของ นักศึกษาประชาชนไทย เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมขับขานบอกเล่าความจริงในสังคม เพื่อมวลมหาประชาชนคนทุกข์ยาก บรรเลงต่อเนื่องไม่ขาดสาย บันทึกภาพลักษณ์ทางสังคมเข้าไว้หลากหลาย

เป็นสายธารเหยียดยาวบนกาลเวลาเนิ่นนานถึง 25 ปี นับตั้งแต่ปี 2516 “เพลงเพื่อชีวิต” ได้สะท้อนปัญหาทางสังคม ความรู้สึกของผู้คน แต่ละสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอก จากนั้นการแพร่กระจายของบทเพลงสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติของผู้คนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งต่อวงการดนตรีไทยโดยส่วนรวม ในระยะเวลาเกือบ 3 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องเรื่อยมาตราบปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา “เพลงเพื่อชีวิต” ได้กลายเป็นแนวเพลงเฉพาะ มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจเทปและแผ่นเสียงในประเทศไทย

กระแส แห่งสายธารนี้ หากย้อนมองจากหลักฐานบันทึก สามารถเห็นช่วงขาดหาย อันเนื่องมาจากเภทภัยทางการเมือง เหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผลักดันให้นักเพลงเพื่อชีวิตหลบหนีจากเงาทะมึนแห่งโพยภัย ปลีกตัวไปสู่ชนบท ปักหลักสู้บนภูเขา ระหว่างปี 2520-2524

“เพลงเพื่อชีวิต” หายไปบรรเลงกังวานสะท้านภูผา สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้เจ็บแค้นจากทารุณกรรมกลางเมือง ประกาศกล้าเข้าต่อสู้ด้วยสงคราม สดุดีการต่อสู้และผู้นำวิถีทางการปลดแอก บอกเล่าถึงจิตใจเหิมหาญท่ามกลางชีวิตความเป็นอยู่ยากแค้นกันดาร ความมุ่งหวังและความใฝ่ฝัน แม้จะอยู่กับความอึดอัดขัดข้องของกรอบทำงาน จากสิ่งที่เรียกว่า “เพลงปฏิวัติ”

นับจากสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) เริ่ม ออกอากาศเมื่อเดือนมีนาคมปี 2505 เป็นต้นมา ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ดำเนินการอยู่นั้นเพลงปฏิวัติเป็นส่วนหนึ่งของรายการ กระจายเสียงที่คงคู่ตลอดจนกระทั่งปิดไปในที่สุด บทเพลงปฏิวัติของ สปท. เปรียบเสมือนคำแถลงและท่าทีของ พคท. ต่อเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ตลอดยุคสมัยที่ว่านั้น บทเพลงเหล่านี้ยังคงเป็นเครื่องมือและสื่อกลางที่สำคัญในการสร้างขวัญและ กำลังใจให้ขบวนการปฏิวัติทั้งหมด นอกจากนั้นในเสียงเพลงที่รับฟังได้จากสถานีวิทยุ สปท. ยังเจือปนไว้ด้วยความรู้สึกนึกคิด ทฤษฎี ความเชื่อ ตลอดจนภาพสะท้อนบางด้านของการปฏิวัติภายใต้การนำของ พคท. ไว้ให้ศึกษาอย่างมากมาย

และนี่คืออาวุธที่ทรงอานุภาพยิ่งของ พคท. ในแนวรบด้านวัฒนธรรม ในขณะที่สงครามจิตวิทยากำลังต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง ดุเดือด แหลมคมอยู่นั้น เพลงปฏิวัติ ก็เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง และได้ผลมากโดยเฉพาะกับเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของ พคท. จนกล่าวได้ว่าในบางช่วง เวลา เพลงปฏิวัติ อยู่ในฐานะรุก เนื่องจากนำเสนอรูปแบบและเนื้อหาที่สอดคล้องเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟังได้ดี กว่า จนฝ่ายตรงข้ามต้องหันมาใช้เสียงเพลงแก้เกมในแนวรบด้านปฏิบัติการสงคราม จิตวิทยา


เพลงปฏิวัติ

ภาย หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมใน สังคมร่วมกับ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา แตกกระจัดกระจาย ลี้ภัยคณะปฏิรูปปกครองแผ่นดิน เข้าสู่เขตป่าเขาพื้นที่การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แปรสภาพไปเป็นศิลปินปฏิวัติ

ดังนั้นเพลงเพื่อชีวิตที่สร้างสรรค์ในสภาวะนี้ จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นเพลงปฏิวัติ

อาจมีเพลงส่วนหนึ่งของคาราวาน ซึ่งถูกตระเตรียมตั้งแต่อยู่ในเมือง เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มชุดที่ 3 “มารครองเมือง” แต่เมื่อสภาพพลิกผันจึงต้องใช้สตูดิโอ “ป่าไผ่” กลางทิวเทือกเขาภูซาง ระหว่างรอยต่อ เลย-อุดร-หนองคาย บันทึกเสียงราวกลางปี 2520 ประกอบด้วยบทเพลง มารครองเมือง มรดกจีไอ ลุงโง่ย้ายภูเขา สามล้อ ฝนใหม่ โคราชขับไล่อเมริกา อีสานคืนถิ่น ฯลฯ

ส่วนนี้อาจจัดเป็นเพลงเพื่อชีวิต

ในที่นี้ไม่รวมถึงบทเพลงเพื่อชีวิตที่สร้างสวรรค์โดยวงดนตรีที่มีบทบาทเคลื่อนไหว ในเขตเมือง ในช่วงระยะเวลานั้นเช่น วงฟ้าสาง แฮมเมอร์ ฯลฯ

การ ศึกษาบทเพลงเพื่อชีวิต เมื่อเปลี่ยนบทบาทและเวที เข้าร่วมเคลื่อนไหวในขบวนปฏิวัติระหว่าง ตุลาคม 2519 ถึงราวกลางเดือนเมษายน 2525 จำต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ บทบาทตัวบุคคลศิลปิน และบทเพลงปฏิวัติ


บทบาทตัวบุคคลศิลปิน

ศิลปิน เพลงเพื่อชีวิตยุคนั้นเกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษา มีกิจกรรมด้านการเมืองและวัฒนธรรม ไม่มีวงดนตรีที่ประกอบวงลักษณะอาชีพ หรือกึ่งอาชีพ แม้บางวงจะมีผลงานบันทึกเสียงของตนเอง เว้นแต่คาราวาน การลี้ภัยเข้าสู่เขตป่าเขากระจัดกระจาย เป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล อาจเกาะกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แทบไม่เหลือสภาพเป็นวงดนตรี อาจมีเพียงคาราวาน ที่เป็นรูปวงสมบูรณ์พร้อม

บางส่วนซึ่งเป็นแกนหลักของกรรมาชนและคุรุชน ขึ้นทางป่าภาคอีสานใต้เทือกเขาพนมดงรัก ขณะบางส่วนไปทางใต้ วงกงล้อและแกนของรวมฆ้อนขึ้นเขาค้อ-ภูหินร่องกล้า คาราวานและโคมฉายไปภูซาง บางคนของต้นกล้าขึ้นสู่ดอยยาวในเขตเชียงราย ลูกทุ่งสัจธรรม รุ่งอรุณ จรยุทธ์ไปภาคใต้ ทั้งที่สุราษฎร์ธานี และเขาพับผ้า ตรัง-พัทลุง-สตูล วงนกสีเหลือง (ม.ขอนแก่น) ขึ้นสู่ภูพาน

การ เข้าสู่ขบวนการปฏิวัติ ศิลปินต้องปรับเปลี่ยนเป็นนักปฏิวัติ โดยถูกจัดให้ศึกษาในโรงเรียนการเมือง-การทหาร เรียนรู้ทฤษฎีปฏิวัติฝึกฝนการทหารเพื่อการใช้ชีวิตในสภาวะสงครามเป็นการ ตระเวนความคิด ชีวิตความเป็นอยู่ระดับพื้นฐาน บางส่วนยังได้ร่วมปฏิบัติการจริงในสายงานต่างๆ เช่น งานมวลชน โฆษณานโยบาย พคท. ปลุกระดมจัดตั้งมวลชน ในหน่วยทหารที่มีหน้าที่สู้รบ หน่วยงานการเมือง ซึ่งเป็นสายทฤษฎีวิชาการเพื่อการเรียนรู้ โดยการปฏิบัติ เพิ่มพูนประสบการณ์ในชีวิตในป่า

ในระยะต่อมา ศิลปินบางส่วน ได้รับการจัดการให้รับการศึกษาเป็นการเฉพาะ ทฤษฎีการทำงานศิลปะวรรณคดีปฏิวัติ โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วยคำปราศรัยของ เหมา เจ๋อ ตุง ใน การสัมมนาศิลปะวรรณคดีที่เยนอาน ทฤษฎีวิชาการดนตรีสากลเบื้องต้น กระทั่งปฏิบัติการขั้นสูงในต่างประเทศ เช่น การประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสาน เครื่องดนตรีทั้งสากลและพื้นบ้านที่ผ่านการปรับปรุงยกระดับให้มีความเป็น สากลแล้ว เช่น ไวโอลิน วิโอลา เชลโล่ ซอ โอโบ คลาริเนต ทรัมเป็ต ฟลุต แอคคอร์เดียน ขิม พิณ และการขับร้องรวมถึงการประกอบวงดนตรีขนาดเล็กและขนาดกลาง

การศึกษา อบรมในต่างประเทศช่วงสั้นๆ ราว 4 เดือนเศษ เกิดผลในทางยกระดับความรู้ความสามารถไม่น้อย เห็นได้จากการวัดผลด้วยบทเพลงบรรเลง 2 เพลง ซึ่งมีการบันทึกเสียงและเผยแพร่คือ อรุโณทัย และเมล็ดพืชสีแดง

บทบาท การทำงานในระยะแรก เนื่องด้วยความจำกัดของสภาพการณ์ในแต่ละท้องถิ่น ความไม่พร้อมด้านตัวบุคคลศิลปิน ไม่อยู่ในสภาพพอจะประกอบวงเป็นเอกเทศในรูปเดิมการขาดแคลน เครื่องมืออุปกรณ์ และการวางเป้าหมายระยะยาวของ พคท. วงดนตรีเพื่อชีวิตจึงถูกยุบรวมกัน เสริมเพิ่มด้วยบุคคลภายนอกผู้มีความสามารถตามความจำเป็น เพื่อการทำงานจะได้สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของมวลชนเช่น การรวมวงกรรมาชน โคมฉาย นักร้องนำสตรีคุรุชน นักร้องนักดนตรีหมอลำท้องถิ่นเป็น “วงภูซาง 6-10” ร่วมตระเวนแสดงราว 1 ปี และบันทึกเสียงเพลง 1 ชุด อาทิ ถั่งโถมโหมแรงไฟ ความแค้นของแม่ เมล็ดพืชสีแดง นกน้อย เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง ชูธงแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ไทย นกหวีดปฏิวัติ ฯลฯ

การรวมวงกรรมาชนเข้ากับหน่วยศิลป์ภาคเหนือของ พคท. และกลุ่มวัฒนธรรม “พี่น้องแสงธรรม” บันทึกเสียงเพลงร่วมกัน 1 ชุด อาทิ เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน บินหลากู้เสรี อรุโณทัย สหายเทิดเกียรติหญิงไทย ไม่ลืมบุญคุณพรรค ฯลฯ

การรวมวงจรยุทธเข้ากับบางคนของกงล้อ คุรุชน กลุ่มศิลปะการแสดงเปลวเพลิง มร. ในเขต ตรัง-พัทลุง-สตูล มีบทเพลงบันทึกเสียงเผยแพร่ อาทิ ฝากใจสู่นาคร ไม่รบนายไม่หายจน ปักษ์ใต้แดนทอง ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน ฯลฯ

การรวมกงล้อกับกลุ่มศิลปะการแสดงตะวันเพลิง มธ. และร่วมทำงานกับ ประเสริฐ จันดำ ในเขตน่านเหนือ ได้บันทึกเสียงเผยแพร่บทเพลง อาทิ ไฟป่า ปากกากับกระสุน นักข่าวไทยไปแนวหน้า เสียงเพลงจากภูผา ตุลาชัย แสงรวีชี้ทางชัย ฯลฯ

การทำงานของบางคนในต้นกล้ากับศิลปินพื้นบ้านเฉพาะกิจในเขตเชียงราย มีบทเพลงบันทึกเสียงเผยแพร่ เช่น ลุกขึ้นเถิดชาวนา จับปืนเถิดชาวนา จดหมายถึงบ้าน จากนาและโรงงานสู่การปฏิวัติ ฯลฯ

การรวมวงนกสีเหลืองเข้ากับคณะหมอลำปฏิวัติ เพชรภูพาน เป็นวง “ภูพาน 66” ตระเวนแสดงในเขตสกลนคร-นครพนม-กาฬสินธุ์ บันทึกเสียงบทเพลงเผยแพร่ อาทิ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน นักรบจรยุทธ ดาวแห่งชาวนา พิราบแดงแห่งเดือนตุลา ศิลปินมาแล้ว นักรบอาจหาญ ความหวังแห่งชีวิตใหม่ ฯลฯ

ในปี 2521 ได้มีการระดมศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเกือบทั้งหมด เดินทางไปรวมตัวกับหน่วยศิลปินภาคเหนือของ พคท. ทั้งคาราวาน กรรมาชน กงล้อ ต้นกล้า โคมฉาย ตั้งสำนักถาวรในภาคเหนือของประเทศลาว มีรหัสเป็น “หน่วยศิลป์ 82” เตรียมการเพื่อเดินทางไปศึกษาอบรม โครงการระยะสั้นที่สิบสองปันนา

มีบทเพลงที่บันทึกเสียงร่วมกัน อาทิ เจ็ดสิงหาจงเจริญ เสียงปืนแตก เสียงเพลงสู่แนวหน้า พบกันวันปีใหม่ มุ่งไปขยายเขตงาน จับปืนสู่แนวหน้า เคลื่อนขบวนทัพ เยาวชนเหล็ก ฯลฯ

หน่วยศิลป์ 82 ดำรงสภาพเป็นหน่วยงานศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่เกือบปี มีความจำเป็นต้องจัดสรรกำลังออกเป็น 3 หน่วย ตระเวนเคลื่อนไหวในเขตเชียงราย น่านเหนือและน่านใต้ ก่อนจะรวมตัวกันอีกครั้งที่ ผาจิ-ผาช้าง เขตพะเยา ในปี 2524 ก่อนการล่มสลายของขบวนปฏิวัติและยุติบทบาทโดยสิ้นเชิงในปี 2525


บทบาทเพลงปฏิวัติ

ใน ระยะเวลา 5 ปีเศษ หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เฉพาะในเขตป่าเขาคาดว่าบทเพลงปฏิวัติถูกสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 400 เพลง ทั้งจากบรรดาศิลปินที่มีหน้าที่โดยตรง ผู้สนใจที่มีความรู้ ความสามารถ หน่วยศิลปินเฉพาะกิจ เฉพาะเขต มือสมัครเล่น จำนวนหนึ่งได้รับการบันทึกเสียงเผยแพร่ บางส่วนบันทึกเสียงแต่ไม่ได้เผยแพร่ แต่จำนวนมากไม่ได้บันทึกเสียงเผยแพร่ในท้องถิ่นเฉพาะ
การศึกษาด้านนี้เพื่อความสะดวกจึงเลือกพิจารณาตามกระแสอารมณ์ความคิด ช่วงเวลาและตามบทบาทหน้าที่

อารมณ์ เจ็บปวด คลั่งแค้น จากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 19 เมื่อถูกต้อนขับให้ต้องทิ้งบ้าน ทิ้งเมือง หลบลี้หนีภัยไปสู่เขตป่าเขาประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธ ก่อกำเนิดบทเพลงอย่าง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ลาไปเป็นทหารปลดแอก เปิดประตูคุกให้เพื่อน 6 ตุลาฯ แหล่ 6 ตุลาฯ ลูกจะกลับพร้อมชัย เมล็ดพืชสีแดง สหายฝากใจสู่นาคร ฯลฯ

เมื่อ ก้าวสู่สายทางปฏิวัติ ผ่านโรงเรียนการเมือง-การทหาร ปรับเปลี่ยนความรู้ ความคิดและใช้ชีวิตทหารแดง มีหน้าที่การงานชัดเจนลงสู่การปฏิบัติ สั่งสมประสบการณ์ จิตใจเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ฮึกห้าวเหิมหาญเชื่อมั่นด้วยแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างบทเพลงถั่งโถมโหมแรงไฟ เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง เสียงเพลงจากภูผา ไม่รบนายไม่หายจน เสียงเพลงสู่แนวหน้า ฯลฯ

การ ได้รับการโอบอุ้มและรู้สึกปลอดภัย การได้รับข่าวคราวรุดหน้าของสถานการณ์ปฏิวัติยิ่งเพิ่มพูนความรู้สึกเชื่อ มั่นต่อองค์กรนำ เกิดบทเพลงสดุดีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อรุโณทัย แสงรวีชี้ทางชัย ดาวแดงแห่งภูพาน ตะวันสีแดง ติดตามพรรคไป ความหวังแห่งชีวิตใหม่ ไม่ลืมบุญคุณพรรค ฯลฯ

บทเพลงที่จำเป็นต้องรับใช้สถานการณ์ต่างๆ ปลุกเร้ากระตุ้นจิตใจสู้รบ ต้านการล้อมปราบ อาทิ ไฟป่า นักรบอาจหาญ ศึกผาแดง จับปืนขึ้นสู่แนวหน้า ร้อยห้าแหนบหัก เตรียมต้านศึก ฯลฯ ร่วมเทศกาลรำลึก เช่น ตุลาชัย เจ็ดสิงหาจงเจริญ เสียงปืนแตก รำวงเจ็ดสิงหา เทิดเกียรติหญิงไทย หญิงสู้หญิงชนะ สามัคคีหญิงไทย รำวง 1 ธันวาฯ พบกันวันปีใหม่ ฯลฯ การต้องเดินทางไปรับภาระหน้าที่ใหม่ในเขตงานอื่นเมื่ออำลากัน เช่น คำสัญญา กำลังใจ เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ ฯลฯ

เมื่อ การปฏิวัติผ่านไปถึงช่วงสุดท้าย เกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายต่างๆ นำไปสู่การเกิดวิกฤติศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค เกิดบทเพลงที่แสดงความสับสน ใช้สัญลักษณ์ซับซ้อน กระทั่งศิลปินหันไปสร้างบทเพลงที่มีลักษณะทั่วไป กลับไปสู่เพลงเพื่อชีวิตในที่สุด มีการปรากฏของบางบทเพลงที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ เช่น รัตติกาล นาวาเดือนหงายกลางป่า ย่ำค่ำ ฝั่งน้ำน่าน นกเขาไฟ คาราวาน บ้านนาสะเทือน รวมถึงเพลงคิดถึงบ้าน ของนายผี ฯลฯ

เดือน เมษายน 2525 ศิลปินปฏิวัติชุดสุดท้าย ออกจากป่าเขตผาจิ-ผาช้าง คืนเมือง ส่วนที่เป็นนักศึกษา นักกิจกรรม กลับไปสู่ห้องเรียนหรือเลือกประกอบอาชีพเพื่อการมีรายได้เลี้ยงชีพ เริ่มต้นการต่อสู้ชีวิตครั้งใหม่ อาจมีบางคนเกี่ยวข้องกับวงการเพลงอยู่บ้าง แต่คงมีเพียงคาราวาน ที่กลับมาประกอบอาชีพศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่างเต็มตัว ประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 ใน “คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ”


เพลงเพื่อชีวิตยุคธุรกิจเทปเพลง (พ.ศ.2525-ปัจจุบัน)

“โอ้ยอดรักฉันกลับมา จากขอบฟ้าที่ไกลแสนไกล
จากโคนรุ้งที่เนินไศล จากใบไม้หลากสีสัน
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง”
(สุรชัย จันทิมาธร, เพลง ‘คืนรัง’)

การกลับมาของคาราวานและเพื่อนร่วมสมัยร่วมอุดมการณ์ ที่บอบช้ำจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาประเทศไทยอาจบรรยายได้ด้วยเพลง “คืนรัง” พวกเขาไม่ได้กลับมาเพื่อ “กรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์” อีกต่อไปแล้ว แต่มาพร้อมบาดแผลและข้อกล่าวหาที่หลายคนบอกกันว่า “มีการกระทำอันไม่เป็นคอมมิวนิสต์” และในขณะเดียวกัน คอนเสิร์ตเพื่อยูนิเซฟที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ถึงจะไม่ลานโพธิ์) ที่ประกาศถึงการ “คืนรัง” ของพวกเขา ก็ถือเป็นการเริ่มกระแสยุคที่ 3 ของเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นการปรับเข้าสู่ระบบธุรกิจดนตรียุคใหม่ การแสดงสดวันนั้นนำไปสู่เทปเพลงชุดแรกของการกลับมาและชุดแรกในสัญญาทำเทป 3 ชุดกับบริษัทอีเอ็มไอ ประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ใช่สัญญาที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สำหรับเพลงเพื่อชีวิตที่เคยถูกตั้งความคาดหวังดังหนึ่งเป็นกิจกรรม สาธารณะ นั่นคือมูลค่าที่เกินความคาดหมาย

ความคาดหวังทำนองนั้นยังคง ฝังรากลึกผ่านช่วงเวลายาวนาน และนำมาโยงใยกันยุ่งเหยิงระหว่างทัศนะคนเขียนบรรเลงเพลงเพื่อชีวิตกับการใช้ ชีวิตของพวกเขา ไม่เว้นแม้กระทั่งการทดลองทางแนวดนตรี ช่วงหนึ่งสุรชัย จันทิมาธร ใน คอนเสิร์ตเพื่อยูนิเซฟ ครั้งที่ 2 คาราวานถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงกับการใช้วงร็อกเป็นแบ็กอัป ไม่เพียงแต่ประเด็นความบกพร่องไม่สมบูรณ์ทางการแสดง แต่โยงไปถึงอุดมการณ์

แต่การเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองให้ยืนอยู่ได้ในระบบการแข่งขันของธุรกิจเพลงไทย ทำให้คาราวานสามารถ ยืนหยัดในฐานะมืออาชีพและความเป็นอิสระในวิถีทางของตนระดับหนึ่งที่ชัดเจน และทำให้พวกเขายืนระยะอยู่บนการยอมรับของแฟนเพลงเก่าๆ ได้ในที่สุด แต่วงที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ในการ “จัดการ” กับระบบธุรกิจ และกลายเป็นวงเพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ คาราบาว ที่เกิดไล่หลังแฮมเมอร์ไม่นานนัก

“วณิพก” คือความสำเร็จที่ปลุกกระแสเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมา กลายเป็นกระแสใหญ่ของวงการเพลงไทยอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องบังเอิญ คาราบาวทำงาน หนัก การตระเวนแสดงอย่างเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จ และในที่สุดเมื่อองค์ประกอบทุกอย่างสมบูรณ์แบบ “เมด อิน ไทยแลนด์” ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ในทุกๆ ด้าน

พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คนด่านเกวียน, กะท้อน, คีตาญชลี, นิรนาม (ในยุคแรก) มาจนถึง ซูซู, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, อินโดจีนและอีกหลายคน หลายวง รวมถึงงานเดี่ยวของสมาชิกวงคาราวาน คาราบาว จะมากจะน้อยก็ล้วนมีส่วนหนุนเนื่องให้กระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 3 ถาโถมรุนแรงจนถึงที่สุด

แต่ในขณะเดียวกัน เพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 3 ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกระดับหนึ่งจากบทเพลงประท้วง เพลงแห่งอุดมการณ์ กลายมาเป็นเพลง “สะท้อนสังคม” ที่คลายความรุนแรงลงไปตามกระแสการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เคลื่อนสู่สังคมทุนนิยม บริโภคนิยม (ไม่ นับรวมบางส่วนในงานเพลงของคาราบาวที่แตกกระแสไปเป็น “เพลงการเมือง” อย่างชัดเจนนับตั้งแต่งานชุด อเมริโกย)

จุด เปลี่ยนของกระแสเพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้ ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนผู้ที่ยังยึดถือกรอบบทเพลงยุค 14 ตุลา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะกระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคหลัง 6 ตุลา 19 ไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อยุคประชาธิปไตยเบ่งบานกับยุคปัจจุบันได้ ส่วนที่น่าจะเป็นรอยต่อได้ในบางจุดอย่างแฮมเมอร์ก็ผ่านเข้ามาสู่ยุคปัจจุบันอย่างกระท่อนกระแท่น ถึงที่สุดแล้วในภาพที่เด่นชัด จึงมีเพียงคาราวานที่ผ่านเข้ามาจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้

กรอบ กำหนดนั้นทำให้หลายคนปฏิเสธแนวทางมวลชนที่นำคาราบาวข้ามพ้นจากเขตแดนแคบๆ ของกลุ่มคนฟังระดับปัญญาชน หลายคนเกิดวิกฤตศรัทธากับลีลาชีวิตของศิลปินเพลงแขนงนี้ บางคนถึงกับเหยียดหยามศิลปินนอกสายคนแรกๆ ที่เอาเพลงเพื่อชีวิตไปร้องใหม่และหลายคนเหลือเพียงคาราวานเป็นสรณะสำหรับ เพลงเพื่อชีวิต

ความชอบ รสนิยม การคาดหวัง การกำหนดสถานการณ์ให้คุณค่าแก่เพลงเพื่อชีวิตในกรอบที่แตกต่างกันของแต่ละคน แต่ละกลุ่มเป็นสิ่งที่ไม่อาจหักล้าง และอาจไม่จำเป็นด้วย แต่ในภาพรวมแล้ว การทบทวนความคิดและนิยามของเพลงเพื่อชีวิตกันใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ใช่ว่าทุกเพลงของศิลปินที่ได้รับการประทับตราให้อยู่ในปีกเพื่อ ชีวิต จะเป็นเพลงเพื่อชีวิตโดยกลไกของตราประทับนั้น และไม่ใช่ว่าเพลง “ดอกไม้ให้คุณ” เมื่อร้องโดย ดนุพล แก้วกาญจน์ เรื่อยมาจนถึง อรวี สัจจานนท์ และงานเพลงคาราวบาว จากเสียงของนรีกระจ่าง คันธมาส จะไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิตอีกต่อไป

อีกด้านหนึ่ง บางเพลงของเฉลียง งานยุคแรกของอัสนี-วสันต์ โชติกุล บางส่วนในงานของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ งานของจรัล มโนเพ็ชร และเพลงในแบบของฤทธิพร อินสว่าง คือส่วนที่ไม่อาจคัดแยกออกจากกระแสเพลงเพื่อชีวิตอย่างเด็ดขาดได้

อย่าง ไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือในยุคปัจจุบัน เพลงเพื่อชีวิตได้เข้ายึดครองเขตแดนที่แน่นอน บริเวณหนึ่งในตลาดเพลงไทยแล้ว นั่นคือ ความสำเร็จ และในทางยุทธศาสตร์ พันธมิตรที่ขยายวงออกไปก็เป็นสิ่งที่ควรยินดี อีกด้านหนึ่ง การดื่มอย่างดื่มด่ำกับเพลงเพื่อชีวิตในผับเพื่อชีวิต และภาพสาวงามในเทปคาราโอเกะเพลงเพื่อชีวิต หากจะถือว่าเป็นผลพวงธรรมดาของระบบธุรกิจ ก็ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนราคาแพงแต่อย่างใด

ปัญหาที่น่าสนใจมากกว่าจึงอยู่ที่ว่าหลังยุคต่อจากนี้ไป กระแสเพลงเพื่อชีวิตจะสาดซัดไปทางใด

วันนี้ ของกระแสเพลงเพื่อชีวิตเริ่มต่ำลง หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงภาวะที่ถดถอย เพลงที่สร้างออกมาใหม่ๆ ดูจะไม่มีพลังหรือมนต์ขลังเท่ากับเพลงของวันวาน ในที่สุดก็เกิดคำถามว่า เพลงเพื่อชีวิตตายแล้วหรือยัง!


เพลงใต้ดิน

เพลง ใต้ดิน มุ่งเน้นที่ปรัชญาความคิด ถึงแม้ดนตรีที่ออกมาจะไม่แพรวพราว แต่เป็นความเรียบง่ายที่ออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกรับกับน้ำเสียงกับคำร้องใน เนื้อหาที่มีสาระต่อสังคม ซึ่งเริ่มจับต้องได้ในบ้านเราน่าจะเป็นช่วงหลัง 14 ตุลา 16 ควบคู่มากับกระแสการต่อสู้ของนักศึกษา เพื่อแสวงหาแนวร่วมทางความคิดดังเช่น คาราวาน กรรมาชน คุรุชน โคมฉาย กงล้อ และต้นกล้า ที่ ทำเทปออกมา แล้วก็ขายกันใต้ดิน คือไม่มีการเปิดตามสถานีวิทยุ ไม่มีค่ายเทปมาวางแผนโปรโมท และจัดจำหน่าย ไม่มีการโปรโมท มีเพียงโปสเตอร์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่กล่าวถึงเท่านั้น การสร้างกระแสตรงนี้ถือได้ว่า เป็นการขยายแนวคิดและส่งผลสะเทือนอันต่อเนื่อง เสมือนลูกโซ่ที่ถักร้อยต่อเนื่องมาสู่กลุ่มของผู้สร้างดนตรีแนวนี้ใน ปัจจุบันให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งแนวคิดและสไตล์ของการสร้างงาน เป็นการหว่านเมล็ดพืชพันธุ์อิสระให้แย้มกลีบบานสะพรั่งในสวนดนตรี เพื่อที่ว่าคนฟังจะได้มีตัวเลือกใหม่ในการซื้อ

เทปใต้ดินเป็นการผลิตงานที่หัวใจต้องการออกมาโดยไม่มีธุรกิจเข้ามาควบคุม เน้นความคิด และขายโดยไม่ผ่านสื่อที่ควบคุมโดยค่ายเพลง

เพลงใต้ดิน ถึงแม้จะมีจุดยืนที่เหมือนกัน แต่แนวเพลงของแต่ละคนต่างมีความหลากหลาย และมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เป็นความรู้สึกที่ต้องการสื่อออกมา มีเรื่องราวและท่วงทำนองซึ่งผ่านการคิดค้นขึ้นมาเอง โดยไม่ได้มองว่าตลาดจะให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน

ถึงแม้เทปนอกระบบ เหล่านี้อาจจะไม่เข้าตาคนที่จะทำการโปรโมชั่น เพราะกระแสโปรโมชั่นในยุคนี้จะจับแนวดนตรีที่เร็วและกระชับ พร้อมกับต้องมีรูปร่างหน้าตาที่เป็นบุคลิกของคนสมัยใหม่วัยรุ่นรับได้ คนทำเพลงใต้ดินเหล่านี้ก็สำนึกตลอดเวลาว่าพวกตนล้วนไม่ใช่คนที่ต้องการขาย หน้าตา หากแต่คุณค่าของเพลงที่พวกเขานำเสนอควรจะอยู่ที่ความคิดและจิตใจที่ดีงาม ทำงานเพื่อส่วนรวม มองปัญหารอบตัวและสร้างพื้นฐานจากสิ่งที่ตนเองมีอยู่!



กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
ที่มา : คัดจากจุลสารประกอบงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา
ใช้เป็นเอกสารประกอบการเสวนา “เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต” ในงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา วันที่ 10-14 ตุลาคม 2544

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น